ภัยแฝงจากแสงแดดที่คนไม่ค่อยรู้ ☀☀
คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวันที่มีเมฆหมอก วันที่ท้องฟ้าขมุกขมัว เวลาฝนตกหรือหน้าหนาว ไม่น่าจะเกิดอันตรายจากแสงแดด แต่ความจริงแล้ว แม้วันที่มีเมฆหมอก ไม่มีร่มเงาแดด แต่หากยังมีแสงสว่างพอที่จะอ่านหนังสือได้ แสงยูวีก็ยังสามารถส่องผ่านมาได้ แม้กระทั่งวันที่มีลมพัดแรง ซึ่งผิวหนังอาจได้รับผลเสียจากแสงแดด และเกิดผิวไหม้ได้มากกว่าปกติ เพราะลมที่พัดแรงจะทำให้รู้สึกเย็นสบาย ทำให้หลายคนอาจเผลออยู่กลางแจ้งหรือกลางแดดนานโดยไม่ได้ตั้งใจ อีกตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ เวลาเดินทางไปต่างจังหวัดที่ต้องใช้ เวลานานหลายชั่วโมง บางคนชอบเปิดหน้าต่างรถให้ลมพัดโกรกตลอดเวลา ผลคือ หน้าจะดำคล้ำลงทันทีเมื่อสิ้นสุดการเดินทาง คนโบราณฉลาด และเก่งมากที่สามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ แล้วนำมาพูดเปรียบเทียบเป็นสำนวนประชดประชันว่า "แก่แดด แก่ลม" กับเด็กผู้หญิงที่อยากจะเป็นสาวทั้งที่อายุน้อยนิด แล้วรู้ไหมว่าการอยู่ในที่สูง เช่น บนภูเขา ก็ทำให้ผิวมีโอกาสได้รับอันตรายจากแสงแดดมากกว่าปกติด้วย เพราะพื้นที่สูงจะมีชั้นบรรยากาศ ที่ดูดซับรังสีที่เป็นอันตรายจากแสงแดดน้อยกว่าที่ระดับน้ำทะเล
วิธีป้องกันผิวจากภัยแดด ☀
นับตั้งแต่วันที่มนุษย์ค้นพบว่าชั้นบรรยากาศของโลกปรากฏช่องโหว่ทะลุ จนแสงร้อนแรงสามารถแผ่รังสีมาทำร้ายผิว จนถึงขั้นเป็นมะเร็งผิวหนังได้ในที่สุดนั้น วงการแพทย์จึงได้คิดค้นหาสารที่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันรังสีความร้อน ในรูปแบบครีมกันแดดขึ้น เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผิวหนัง ดังนั้นการใช้ครีมกันแดดสำหรับยุคนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นในการปกป้องผิวให้ปลอดภัยจากการรุกล้ำทำลายของแสงแดดที่นับวันจะมีพิษสงรุนแรงเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ครีมกันแดดก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดหรือเป็นคำตอบสุดท้ายในการป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง เพราะถึงอย่างไร แสงยูวีก็ยังสามารถผ่านผิวหนังของเราไปได้ วิธีที่จะปกป้องผิวจากแสงแดดให้ได้มากที่สุด ต้องปฏิบัติตัวหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ
1. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะระหว่างเวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น. เพราะเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด ทั้งนี้เพราะรังสียูวีกว่าร้อยละ ๘๐ จะส่อง ลงมาในเวลาดังกล่าว และสามารถสะท้อนแสงเมื่อกระทบผิวน้ำ พื้นถนน ซีเมนต์ ทราย ป้ายโฆษณา อาคารสีอ่อนๆ หรือแม้กระทั่งเก้าอี้นั่งชายหาดก็สะท้อนแสง ยูวีได้เช่นกัน
2. พยายามหลบแสงแดดให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ในทุกที่ ทุกเวลา
3. สวมหมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เมื่อต้องเจอแสงแดด หรือทำกิจกรรมต่างๆ กลางแจ้ง
4. สวมเสื้อผ้าให้ปิดผิวมิดชิด (มากที่สุดเท่าที่จะทำได้) ซึ่งโดยทั่วไปเสื้อผ้าที่ทอเนื้อแน่นสีเข้ม จะกันแดดได้มากกว่าเสื้อผ้าเนื้อบางๆ
5. ทาครีมกันแดดในบริเวณผิวหนังที่ไม่สามารถป้องกันด้วยเสื้อผ้า เช่น บริเวณใบหน้าหรือหลังมือ พึงระลึกไว้เสมอว่ายากันแดดป้องกันได้เพียงแสงยูวีเท่านั้น แต่แสงที่ให้ความสว่าง หรือความร้อนจากแดด ซึ่งหากได้รับปริมาณมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังได้เช่นกัน ในส่วนนี้ยากันแดดไม่สามารถป้องกันได้
ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้หน้าดูแก่กว่าอายุจริง หรือเป็นโรคต่างๆ ทางผิวหนัง ก็ต้องใส่ใจดูแลผิวพรรณกันบ้าง ตามที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญแนะนำไว้อย่างจริงจังเป็นประจำสม่ำเสมอ
ที่มา : facebook :: มูลนิธิหมอชาวบ้าน